เหตุการณ์ที่เกี่ยวข้อง ของ การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย พ.ศ. 2551

การต่อต้านแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา

สาเหตุหนึ่งที่นำมาสู่การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ในครั้งนี้ คือ การที่รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ปล่อยให้รัฐบาลกัมพูชายื่นเรื่องให้เขาพระวิหารเป็นมรดกโลกเพียงฝ่ายเดียว โดยปราศจากการเข้าร่วมยื่นบริเวณรอบเขาพระวิหารจากฝ่ายไทย อันเป็นการสุ่มเสี่ยงต่อการเสียอธิปไตยของชาติ ซึ่งกลุ่มพันธมิตรได้ออกแถลงการณ์ไว้ในแถลงการณ์ฉบับที่ 8/2551 ตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม[75]

หลังจากนั้น ในวันที่ 24 มิถุนายน นายสุวัตร อภัยภักดิ์ พร้อมด้วยนายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรฯ และคณะ รวม 9 คน เป็นตัวแทนของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยไปยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลางให้กระทรวงการต่างประเทศและคณะรัฐมนตรียุติการดำเนินการตามมติ ครม. ที่รับรองการออกแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาที่สนับสนุนให้กัมพูชาจดทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกจนกว่าคดีจะเป็นที่สิ้นสุด เนื่องจากพบว่าแผนผังที่ร่างโดยกัมพูชาล้ำเข้ามาในเขตแดนไทยไม่น้อยกว่า 4.6 ตารางกิโลเมตร ตามแผนที่ฝ่ายไทยที่ยึดถือตามมติคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2505 หลังคำตัดสินของศาลโลก ทั้งยังจะสละสิทธิในข้อสงวนที่ไทยจะทวงปราสาทเขาพระวิหารกลับคืนมาในอนาคต และการดำเนินการของผู้เกี่ยวข้องไม่ดำเนินตามขั้นตอนทางกฎหมาย[76]

นอกจากนี้ กลุ่มพันธมิตรฯ ยังได้รวบรวมรายชื่อผู้คัดค้านการขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกได้จำนวน 9,488 รายชื่อ และได้มอบรายชื่อให้หม่อมหลวงวัลย์วิภา จรูญโรจน์ ผู้อำนวยการสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน โดยยอดรวมรายชื่อผู้ที่คัดค้านการขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารมีจำนวนทั้งหมด 33,400 รายชื่อ ซึ่งภายหลังจากการรับมอบรายชื่อจากแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ แล้ว ม.ล.วัลวิภา จรูญโรจน์ ได้ไปยื่นหนังสือคัดค้านเรื่องนี้ต่อนายจุลยุทธ หิรัณยะวสิต ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาลด้วย[77]

ศาลปกครองกลางมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้กระทรวงการต่างประเทศและคณะรัฐมนตรียุติการดำเนินการตามมติที่รับรองการออกแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ในการสนับสนุนให้กัมพูชาจดทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกไปจนกว่าคดีจะเป็นที่สิ้นสุดหรือศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น ตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน เป็นต้นไป[78][79][80]

จากนั้นในวันที่ 14 กรกฎาคม แกนนำพันธมิตรฯ ได้ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เพื่อให้ไต่สวนดำเนินคดีกับคณะรัฐมนตรีทั้งคณะ ข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ นายทหาร และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีที่อาจทำให้ประเทศไทยสูญเสียอธิปไตยเหนือพื้นที่ทับซ้อนบริเวณรอบ ๆ ปราสาทพระวิหาร[81]

การชุมนุมหน้าอาคารรัฐสภา

ตำรวจยิงแก๊สน้ำตาเข้าสลายการชุมนุม

วันที่ 6 ตุลาคม หลังจากที่ผู้ชุมนุมจากจังหวัดต่าง ๆ ได้ทยอยสู่ที่ชุมนุมแล้ว เวลาประมาณ 20.30 น. บนเวทีแกนนำพันธมิตรได้ขึ้นเวที และประกาศขยายพื้นที่การชุมนุมไปยังหน้าอาคารรัฐสภาทำการปิดล้อม เพื่อไม่ให้รัฐบาลแถลงนโยบายได้ในวันที่ 7 ตุลาคม

เช้าวันที่ 7 ตุลาคม ตำรวจจึงได้ระดมยิงแก๊สน้ำตาสลายการชุมนุมของกลุ่มผู้ชุมนุมที่ปิดล้อมอาคารรัฐสภา เพื่อให้รัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์แถลงนโยบายตามกฎหมาย พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน และสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 40 คน ได้คว่ำบาตรการแถลงนโยบายครั้งนี้โดยไม่เข้าร่วมประชุม หลังจากนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี แถลงนโยบายเสร็จแล้ว ได้เดินทางออกจากรัฐสภาไปยังกองบัญชาการกองทัพไทย เพื่อหารือกับผู้บัญชาการ 3 เหล่าทัพถึงสถานการณ์

ตำรวจได้ยิงแก๊สน้ำตาอีกชุดเพื่อเปิดทางให้ ส.ส. และ ส.ว. ซึ่งยังคงติดอยู่ภายในอาคารรัฐสภาออกไปได้ ผู้ชุมนุมพยายามจะเข้าไปในพื้นที่ บชน. แม้ว่าตำรวจจะประกาศห้ามแล้ว จึงมีการยิงแก๊สน้ำตาสกัดกั้นที่หน้ากองบัญชาการตำรวจนครบาลและลานพระบรมรูปทรงม้า ต่อมาภายหลังมีผู้ได้รับบาดเจ็บจนถึงขาขาดเพิ่มขึ้นอีก 2 ราย ทราบชื่อได้แก่ นาย ตี๋ แซ่เดียว[82]และ นาย บัญชา บุญเหล็ก ซึ่งต้องตรวจสอบต่อไปว่าเกิดจากแก๊สน้ำตาหรือระเบิดปิงปองที่นำมาเองจากผู้ชุมนุมด้วยกัน ในเหตุการณ์ครั้งนี้ตำรวจได้รับบาดเจ็บ 11 นายจากการโดนแทงคอด้วยด้ามธง และโดนรถของผู้ชุมนุมวิ่งเข้าชน รวมถึงถูกยิงด้วยลูกเหล็กและหัวน็อต[83]

รวมยอดผู้บาดเจ็บทั้งสิ้น 381 ราย เสียชีวิต 2 ราย พ.ต.ท.เมธี ชาติมนตรี และ อังคณา ระดับปัญญาวุฒิ มีผู้ทุพพลภาพ 2 รายได้แก่ นาย เสถียร ทับมะลิผล[84]เสียชีวิตวันที่ 14 กรกฎาคม 2555 และ นาง รุ่งทิวา ธาตุนิยม เสียชีวิตวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2559[85] หลังจากนั้นไม่นาน พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ได้ลาออกจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สังคมหลายภาคส่วนได้ประณามการกระทำของตำรวจครั้งนี้ หลังจากเหตุการณ์การปะทะกัน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้พระราชทานหน่วยพยาบาลเพื่อให้ทำการดูแลผู้ได้รับบาดเจ็บ และพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวนสามแสนบาทแก่โรงพยาบาลรามาธิบดีเพื่อเป็นการค่าใช้จ่ายในการรักษา[86]

การงดปราศรัยทางการเมือง

พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นำประชาชนผู้เข้าร่วมชุมนุมที่เชิงสะพานมัฆวานรังสรรค์ กล่าวคำถวายพระพรเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
วิกิซอร์ซ มีงานต้นฉบับเกี่ยวกับ:

เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2551 กลุ่มพันธมิตรฯ มีมติให้จัดงานเทิดพระเกียรติและร่วมกันแสดงความจงรักภักดีถวายแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถสะพานมัฆวานรังสรรค์[87] เช่นเดียวกับในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทางกลุ่มพันธมิตรฯ ได้มีมติให้ยกเลิกการปราศรัยทางการเมืองบนเวที ตั้งแต่วันที่ 14 - 17 พฤศจิกายน และเปิดถนนราชดำเนินนอก โดยในคืนวันที่ 15 พฤศจิกายน อันเป็นวันพระราชทานเพลิงพระศพ ทางแกนนำพันธมิตรฯ ได้ทำพิธีสักการะและน้อมส่งเสด็จฯ สู่สวรรคาลัย[88] [89]

แหล่งที่มา

WikiPedia: การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย พ.ศ. 2551 http://special.bangkokbiznews.com/detail.php?id=23... http://www.bangkokbiznews.com/2008/06/20/news_2688... http://www.bangkokbiznews.com/2008/12/02/news_3168... http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics... http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/495111 http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/773876 http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/802974 http://www.bangkokpost.com/News/07Jun2008_news05.p... http://www.bangkokpost.com/breaking_news/breakingn... http://www.bangkokpost.com/topstories/topstories.p...